อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ ที่คุณชูเกียรติ โกแมน ได้สร้างสรรค์ขึ้น และนำมาแบ่งปันในลานสวนผักคนเมือง เมื่องานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ที่ผ่านมาก็คือ กล่องหมักปุ๋ย
อันที่จริงการทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร หรือขยะอินทรีย์ในครัวเรือน สามารถทำได้หลากหลายวิธี ล่าสุดที่เพิ่งเคยแบ่งปันไปก็เป็นเรื่อง ทำปุ๋ยหมักในกะละมัง และในตะกร้าสไตล์ห้องเรียนปุ๋ยหมักแม่โจ้
อย่างไรก็ตาม พี่ชูเกียรติ ได้คิดทำกล่องหมักปุ๋ยนี้ขึ้นมา ก็ด้วยความที่ตระหนักว่า พื้นที่ในเมืองมีจำกัด หลายบ้านน่าจะต้องการที่หมักปุ๋ยแบบมิดชิด ป้องกันสัตว์ต่างๆมาคุ้ยเขี่ย รวมถึงต้องไม่มีกลิ่นเหม็น ที่สำคัญคือสามารถวางไว้ในบ้านได้ และสะดวกต่อการใช้งาน
ส่วนประกอบหลักๆของกล่องหมักปุ๋ยนี้ ก็คือกล่องที่ปิดมิดชิด และท่อสำหรับนำอากาศจากภายนอกเข้าไปในกล่อง
สิ่งที่ต้องเตรียมไว้สำหรับใช้ทำปุ๋ยด้วยกล่องหมักปุ๋ยนี้ก็คือ
- Compost Starter ซึ่งประกอบด้วย ดินถุง กากกาแฟ และปุ๋ยคอก ในอัตราส่วนเท่าๆกัน นำมาผสมกัน เตรียมไว้ใช้งาน
- หัวเชื้อจุลินทรีย์แบบแห้งซึ่งพี่ชูเกียรติได้แนะนำวิธีทำหัวเชื้อจุลินทรีย์จากธรรมชาติไว้ใช้เองง่ายๆ โดยนำเอาผิวหน้าดินบริเวณโคนต้นไม้ ซึ่งอาจมีทั้งดิน เศษกิ่งไม้ ใบไม้แห้งนำมาโรยน้ำตาล พรมน้ำเล็กน้อยให้ชื้น ใส่ตะกร้าคลุมทิ้งไว้ในที่ร่มประมาณ 2-3 วัน เมื่อเห็นเชื้อราสีขาวๆ นั่นก็แสดงว่าเราได้หัวเชื้อจุลินทรีย์จากธรรมชาติ
- หัวเชื้อจุลินทรีย์แบบน้ำ วิธีทำก็คือ ให้นำจุลินทรีย์แบบแห้งที่ได้มาประมาณ 2 ช้อนโต๊ะ เติมน้ำ 1 ลิตร ใส่น้ำตาล 1 ช้อนโต๊ะ คนให้น้ำตาลละลาย แล้วตั้งไว้ในที่ร่วม เย็น อากาศถ่ายเทสะดวก ประมาณ 2-3 วัน ก็จะได้หัวเชื้อจุลินทรีย์แบบน้ำ ซึ่งเวลาใช้ก็นำไปผสมน้ำอีก 10 เท่า พี่ชูเกียรติได้เขียนอธิบายไว้อย่างละเอียดใน facebook https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10206692149655083&set=pcb.10206692150575106&type=3&theater , https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10206697117699281&set=pcb.10206697117899286&type=3&theater ใครสนใจลองเข้าไปอ่านเพิ่มเติมกันได้นะคะ
สำหรับวิธีใช้กล่องหมักปุ๋ยนี้ก็คือ
- ให้นำเศษอาหารที่มีในครัวเรือน มาคลุกกับ compost starter ที่เตรียมไว้ โดยถ้าเศษอาหารชิ้นใหญ่ ก็ให้สับให้เล็กลง ส่วนน้ำแกงนั้น พี่ชูเกียรติบอกว่าสามารถใส่ลงไปได้เลย เพราะเจ้า Compost Starter จะทำหน้าที่ช่วยดูดซับน้ำแกง และปรับความชื้นให้เหมาะสม
- โรยน้ำตาลให้ทั่ว หากมีเศษอาหารพวกของสดของคาว อย่างหัวกุ้ง ไส้ปลา หรือแกงกะทิ ก็ให้ใส่น้ำตาลมากขึ้นกว่าปกติ
- เติมหัวเชื้อจุลินทรีย์แบบน้ำที่เตรียมไว้
- คลุกผสมทุกอย่างให้เข้ากันแล้วเทใส่กล่องหมักปุ๋ย
พี่ชูเกียรติบอกว่า เราสามารถเติมเศษอาหารลงไปได้ทุกวัน โดยทำตามขั้นตอน 1-4 ที่กล่าวมา หลังจากเต็มกล่องแล้ว แนะนำว่าควรเปิดกล่องแล้วคลุกผสมปุ๋ยในกล่องบ่อยๆ เพราะจะช่วยให้การย่อยสลายมีประสิทธิภาพดีขึ้น หรือหากใครมีปั๊มออกซิเจนตู้ปลา ก็สามารถนำมาต่อเข้ากับท่อ เพื่อเติมอากาศเข้าไป ช่วยกระบวนการย่อยสลายได้ด้วย โดยทั่วไปแล้ว ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน ก็จะได้ปุ๋ยหมักไปใช้บำรุงพืชผักที่ปลูกแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับปริมาณเศษอาหาร และความเหมาะสมของสภาพการหมักด้วย
วิธีสังเกตว่าปุ๋ยของเราใช้ได้หรือยังก็คือ เมื่อสัมผัสแล้วจะต้องไม่ร้อน ไม่มีกลิ่น ไม่มีเศษอาหารหลงเหลือ
เมื่อได้ปุ๋ยหมักแล้ว ก็ตักใส่กระสอบเก็บไว้ใช้ จะได้มีถังพร้อมไว้ใส่เศษอาหารเพื่อทำปุ๋ยหมักต่อไป
ขอบคุณข้อมูลจาก https://www.facebook.com/photo.php?fbid=10206738505173942&set=pcb.10206738506773982&type=3&theater ใครสนใจสามารถเข้าไปอ่านที่พี่ชูเกียรติเขียนเพิ่มเติมกันได้นะคะ หรือใครสนใจกล่องหมักปุ๋ย ก็ติดต่อได้ที่พี่ชูเกียรติเลยค่ะ